วัยเริ่มทำงาน..ฮอร์โมนกำลังพุ่งพล่าน เพราะทำงานมีเงินใช้เองแล้ว มาดามจะมาแฉ “7 หลุมพราง” ดึงชีวิตพลาดของวัยเริ่มต้นทำงาน ที่พบเห็นได้บ่อยๆ ให้ฟังกันค่ะ เห็นมาเยอะ..ตัวเองเจ็บมาก็เยอะ ลองเช็คตัวเองกันนะ จะได้ไม่เสียโอกาสสร้างฐานะ
1. ไม่ต้องเก็บเงิน เพราะเงินเดือนน้อย
“ลำพังแค่จะใช้ยังไม่พอ จะมาเก็บออมอะไร?”
ความจริง – ไม่สำคัญว่าหาได้เท่าไร สำคัญกว่าคือ..เหลือเท่าไร การบริหารจัดการและการควบคุมตัวเองให้ใช้เงินน้อยกว่ารายไ ด้คือคุณสมบัติของคนจะรวยทุกคน
ควรทำ – ออมก่อนใช้ อย่างน้อย 10% ของรายได้ที่เข้ากระเป๋า เหลือเท่าไร..ค่อยใช้เท่านั้น
2. ไม่ต้องสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“จะทำงานที่นี่นานแค่ไหนก็ไม่รู้ อย่าผูกมัดตัวเองจะดีกว่า”
ความจริง – ไม่ว่าอยู่นานแค่ไหน ก็ไม่ใช่ประเด็น ควรสมัคร!! ถึงอยู่ไม่นานอย่างน้อยก็ได้เงินส่วนที่ตัวเองโดนหักไว้ออ มคืนกลับมา การสมัครเข้ากองทุนแบบนี้จึงเหมาะมาก กับคนที่เก็บเงินเองไม่ได้ ถ้าบังเอิญทำงานที่นี่นาน ก็จะได้ส่วนที่นายจ้างออมสมทบมาให้ด้วย กำไรอีกเด้งนึงคือเงินที่เราหักไปใสกองทุนนี้ เอามาลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ควรทำ – เดินไปสมัครด่วน ติดต่อฝ่ายบุคคล ขอรายละเอียด
3.ไม่คิดเยอะเรื่องไปเที่ยว
“เพื่อนชวนไปไหน ตั๋วโปรออกใหม่ แป๊บเดียว..กดซื้อ ตอบตกลง”
ความจริง – การไปเที่ยวหาประสบการณ์เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเที่ยวจนไม่มีเงินเก็บนั้น..ไม่ดีแน่ เพราะเงินเก็บนี่แหละจะคุ้มครองตัวเราในอนาคต คิดให้ดี เงินทุกบาทที่ใช้ไป คือเงินที่อาจกลายเป็นเงินสะสมของเราก้อนใหญ่ในอนาคต อดเปรี้ยวไว้กินหวานบ้าง
ควรทำ - เที่ยวแต่พอดี ภายใต้งบประมาณเอนเตอร์เทนตัวเอง 10% ของรายได้ (เท่ากับ % เงินออม)
4. ไม่ดูแลโบนัส
“ทำงานเหนื่อยมาทั้งปี เงินก้อนนี้ได้มาแล้ว..ต้องใช้ไป ให้รางวัลชีวิตตัวเอง”
ความจริง – มันก็คือรายได้ก้อนนึง ไม่ต่างจากเงินเดือน แค่จ่ายเพิ่มมาปีละครั้ง และเงินก้อนนี้เอาไปทำประโยชน์ได้ตั้งหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ซื้อความสุขชั่วคราว
ควรทำ – จัดสรรแบ่งเงินโบนัสออกเป็นส่วนๆ คล้ายเวลาเราได้เงินเดือน ควรเก็บออมมากหน่อย 20-30% ถ้ามีหนี้ก็เอามาใช้หนี้ ที่เหลือแบ่งให้พ่อแม่ พัฒนาตัวเอง แล้วค่อยช้อป
5.ไม่มีลิมิตในการใช้บัตรเครดิต
“มีกี่ใบก็สมัคร รูดได้รูดไปรูดให้เต็มวงเงิน”
ความจริง – มีบัตรเครดิตไว้เป็นเรื่องดีเพราะเป็นการสร้างประวัติเรื่ องเครดิต แต่เพราะมีประวัติแล้ว เราต้องระวังรักษาเครดิตนี้ให้ดี ใช้แล้วไม่จ่าย ใช้เกินตัว จะทำประวัติหมองมัว ต่อไปซื้อบ้าน,กู้เงินทำธุรกิจส่วนตัวจะไม่ผ่านเอา
ควรทำ – ไม่ต้องรับความหวังดีและข้อเสนอจากทุกบัตร สมัครและมีไว้ใช้แต่พอควร รูดเท่าไรมีสติกันเงินไว้ สิ้นเดือนจ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลา
6.ไม่คิดเยอะ..เรื่องลงทุน
“ซื้อหุ้น ซื้ออสังหา ตามกระแส”
ความจริง – คนเราควรมี “กองทุนเพื่ออิสระและความปลอดภัย” ส่วนตัว นั่นคือเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เดือนของรายได้ไว้ให้อุ่นใจ เงินก้อนนี้ขอให้ถือเป็นลำดับความสำคัญแรกที่ต้องมี ลองคิดดูว่า..หากมีอะไรเกิดขึ้น เช่น ตกงาน เจ็บป่วย เราจะต้องเร่งรีบขายสิ่งที่เราลงทุนแบบด่วนๆ แม้ขาดทุนก็ต้องยอม
ควรทำ – ให้ความสำคัญกับ “เงินสำรอง” แบ่งมาออมเป็นก้อนนี้ก่อน แล้วแบ่งส่วนนึงไปลงทุนตามใจ
7.ไม่สนใจลงทุนในกองทุน
“ภาษียังไม่ต้องเสีย เสียไม่เยอะ ไม่ต้องสนเหอะ LTF, RMF น่ะ”
ความจริง – ถึงไม่ต้องเสียภาษี ก็ลงทุนในกองทุนได้ ลดหย่อนทางภาษีน่ะแค่ของแถม ถ้าสามารถแบ่งเงินมาลงทุนแต่เนิ่นๆ ได้ นั่นเท่ากับเรากำลังใช้ความเยาว์วัยให้เป็นประโยชน์ “เริ่มก่อน รวยเร็วกว่า” นี่คือเรื่องจริง เพราะยิ่งนานวัน ผลประโยชน์ทบไปทบมา เงินยิ่งทวีค่าทวีคูณ เริ่มศึกษาเริ่มหัดลงทุน เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ทักษะในการลงทุนจะยิ่งเติบโตไปเร็วกว่าคนเริ่มช้า
ควรทำ – ศึกษาข้อมูล เริ่มลงทุนในกองทุน ยังไม่ต้องเป็นกองที่เป็น LTF,RMF ก็ได้ กองทุนเปิดทั่วไปก็มี
7 ข้อที่ว่ามานี้สำคัญนะ.. คนที่คิดเรื่องพวกนี้..กับคนไม่คิด ในเวลาสั้นๆ ยังไม่เห็นความแตกต่างหรอก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี ลองดูสิ..ชีวิตต่างกัน คนที่คิดจะมีเงินมากกว่าคนไม่คิดหลายเท่าตัวได้เลยนะ
ถ้าไม่เชื่อ..ก็ลอง ถามรุ่นพี่ รุ่นพ่อรุ่นแม่ดูสิ
แล้วจะได้ยินคำว่า.. “รู้งี้..ไม่น่า...” แน่ๆเลย ลองดู
โอเคนะ