ในที่สุดประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2560 อย่างเป็นทางการเสียที หลังจากใช้โครงสร้างภาษีเดิมมาตั้งแต่ปีภาษี 2535 หรือกว่า 25 ปีที่แล้ว จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนึงของประเทศไทยก็ว่า ได้
สรุป
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีปี 2560 ครั้งนี้ ในภาพรวมช่วยให้ผู้มีรายได้จากงานประจำเสียภาษีถูกลงทันที เพราะได้สิทธิค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่มีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน ฿26,000 ก็ไม่น่าจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ส่วนคนที่มีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน ฿10,000 ก็จะไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเลย
แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสวนทางกับเจ้าของธุรกิจซึ่งทำกิจการ รับเหมาหรือทำกิจการค้าขายในรูปแบบบุคคลธรรมดา เพราะจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นทันทีเนื่องจากเสียสิทธิค่าใช้จ่ายแบบเหมาไปพอสมควร ทั้งนี้ คาดว่านโยบายภาษีลักษณะนี้เป็นการผลักดันให้เจ้าของธุรกิจ เลือกทำกิจการในรูปแบบบริษัทมากขึ้นนั่นเอง
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากร โดยมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้เสียภาษีเมื่อตัวเองมีรายได้ ยิ่งมีเงินได้มาก อัตราภาษีจะยิ่งสูงแบบขั้นบันได ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดเก็บ