หลาย ๆ คนที่กำลังอยากจะจัดสเปคคอมพิวเตอร์ประกอบคอมสักชุดหนึ่ง ก็คงจะเคยสงสัยว่า Socket คืออะไร และมันสามารถใช้งานร่วมกับ CPU ที่ต้องการใช้งานได้หรือไม่ ถ้าหากทำความเข้าใจกันง่าย ๆ คือ Socket คือส่วนที่เอาไว้ติดตั้ง CPU ลงบนเมนบอร์ด เพื่อให้มันสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ Socket ยังมีอีกหลายแบบ และแต่ละแบบถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ CPU Series ที่แตกต่างกันออกไป
เมนบอร์ดและ CPU จะต้องเลือกตรงรุ่นกันเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ถึงแม้ว่าล่าสุด CPU Kaby Lake(Gen7) Coffee Lake(Gen8) จะใช้งาน Socket LGA 1151 เหมือนกัน แต่ไม่สามารถใช่งานกับเมนบอร์ดรุ่นเก่าได้ เพราะอะไร ?
Socket คืออะไร ?
Socket จะมีลักษณะเป็นช่องเสียบแบบเข็ม (Pin) มีขายึดเพื่อให้สามารถทำการประกบ CPU ลงไป ถูกติดตั้งอยู่บน mainboard เหมือนการเอาของเล่น 2 ชิ้นมารวมร่างกัน ช่วยให้ CPU สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ส่วนอื่นได้ โดยในปัจจุบันก็มีให้เลือกใช้งานกันหลาย Socket ซึ่งจะอ้างอิงจาก CPU ที่เลือกใช้
LGA คืออะไร ?
คำว่า LGA หลายคนมักจะได้ยินบ่อยๆ เพราะมันเอามาเป็นคำนำหน้าของ Socket CPU แต่ละแบบ จริงๆแล้ว LGA ย่อมาจากคำว่า Land Grid Array ใช้เรียกแทนชนิดของ Socket ที่อยู่บนเมนบอร์ด อธิบายง่ายๆก็คือ LGA เป็น Socket ชนิดที่มีเข็ม (Pin) ถูกติดตั้งอยู่บน mainboard โดยเข็มนี้จะไปสัมผัสกับ CPU เพื่อการรับ-ส่งข้อมูลกัน เรียกได้ว่าพบเห็นได้เฉพาะ mainboard จากแบรนด์ Intel เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก mainboard ของ AMD จะใช้ Socket อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PGA (Pin Grid Array) ซึ่งก็คือการย้ายเข็ม (Pin) ที่อยู่บน Socket ของ mainboard มาติดตั้งไว้บน CPU แทน ทราบถึงคำว่า LGA และ PGA ไปแล้ว ต่อไปเรามาทราบถึงชนิดของ Socket CPU ในแบบ LGA ว่ามีอะไรกันบ้าง
- LGA 775 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Pentium, Celeron, Dual-Core, Core 2 Duo, และ Core 2 Extreme
- LGA 1366 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Core i7 ขนาดการผลิต 32 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Gulftown , Core i7 ขนาดการผลิต 45 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Bloomfield , Xeon ขนาดการผลิต 45 และ 32 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Nehalem
- LGA 1156 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Core i5 / i7 ขนาดการผลิต 45 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Lynnfield และ Pentium, Core i3 / i5 ขนาดการผลิต 32 นาโนเมตรสถาปัตยกรรม Clarkdale
- LGA 1155 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Pentium, Core i3 / i5 / i7 ในรุ่นที่ 2 ขนาดการผลิต 32 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Sandy Bridge และรุ่นที่ 3 ขนาดการผลิต 22 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Ivy Bridge
- LGA 1150 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Pentium, Core i3 / i5 / i7 ในรุ่นที่ 4 ขนาดการผลิต 22 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Haswell และรุ่นที่ 5 ขนาดการผลิต 14 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Broadwell
- LGA 1151 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Pentium, Core i3 / i5 / i7 ในรุ่นที่ 6 และ 7 ขนาดการผลิต 14 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Sky Lake และ Kaby Lake
- LGA 1151 V2 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Pentium, Core i3 / i5 / i7 ในรุ่นที่ 8 ขนาดการผลิต 14 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Coffee Lake
- LGA 2011 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Core i7 ขนาดการผลิต 22 นาโนเมตร(เรียกว่า Ivy Bridge-E), Core i7 ขนาดการผลิต 32 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Sandy Bridge-E, Xeon E5 ขนาดการผลิต 22 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Ivy Bridge-EP และ Xeon E5 ขนาดการผลิต 32 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Sandy Bridge-EP
- LGA 2066 : ใช้ร่วมกับ CPU ตระกูล Core i5 / i7 / i9 ขนาดการผลิต 14 นาโนเมตร สถาปัตยกรรม Sky Lake x และ Kaby Lake x
ทำไม Coffee Lake(Gen8) ถึงใช้ร่วมกับเมนบอร์ด Kaby Lake(Gen7) รุ่นเก่าไม่ได้ ?
เนื่องจากการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ของ Coffee Lake ที่มีการเพิ่ม Core เข้าไปอีก 2 Core เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แตกต่างจาก Sky Lake และ Kaby Lake ที่มีเพียง 2 Core และ 4 Core เท่านั้น ทาง Intel จึงต้องออกแบบ Socket ใหม่โดยยังคงพื้นฐานจาก Socket 1151 เดิมแต่ให้สามารถรองรับกับ Coffee Lake ได้ จึงทำให้ Socket 1151 V.2 ออกมาสำหรับใช้งานร่วมกับ Coffee Lake โดยเฉพาะนั่นเอง อย่างไรก็ตามคาดว่าเมื่อ Intel Gen 9 Canon Lake เปิดตัวออกมาในปีหน้าจะมาพร้อมกับเมนบอร์ด Socket ใหม่อีกด้วย อาจจะทำให้ Socket 1151 V.2 กลายเป็นรุ่นนี้ที่มีอายุสั้นที่สุดก็เป็นได้